ถ้าได้ยินคำว่า “เทอร์โบ” ก็คงต้องนึกถึงอะไรสักอย่างที่มันมีนิยามสั้นๆ ว่า “แรง” ใช่ไหมครับ ???
ก็ถือว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะเจ้า “เทอร์โบ” หรือ “Turbo” ชื่อเต็มๆ ของมัน คือ “เทอร์โบชาร์จเจอร์” นั้น จะทำหน้าที่ “อัดอากาศ” เข้าสู่เครื่องยนต์ เพื่อเพิ่มพลังให้รุนแรงกว่าเครื่องแบบปกติในความจุเท่ากัน แน่นอนครับ เครื่องยนต์เทอร์โบ จะมีแรงม้า และ ความเร็ว ที่ “ฉูดฉาดจัดจ้าน” ทำให้มันถูกติดตั้งอยู่ในรถที่เน้นความแรง เช่น ซูเปอร์คาร์ รถสปอร์ต รถแข่ง เป็นหลัก ซึ่งรถพวกนี้ก็มีการโมดิฟายเพิ่มแรงม้ากันแบบหลุดโลก แต่ว่า ในปัจจุบันนี้ เทอร์โบ ถูกนำมาติดตั้งกับเหล่า “รถบ้าน” ที่ขายกันอยู่ทั่วไปนี่แหละ แล้วมันดีอย่างไรสำหรับเราๆ ท่านๆ ที่ใช้งานกันอยู่ทุกวี่วัน ไม่ได้สรรหาทำจะไปแข่งกับใคร มันจำเป็นหรือไม่ และ มันจะส่งผลให้เราต้อง “กังวล” กับ “ข้อเสียที่เขาว่ามาจริงหรือเปล่า เราจะเล่ากันเป็นส่วนๆ แบบเข้าใจง่ายๆ ด้วยภาษาบ้านๆ นี่แหละ
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น เทอร์โบ เป็นเหมือน “กังหัน” ที่ “อัดอากาศเข้าเครื่องยนต์เพิ่มมากกว่าเครื่องยนต์ธรรมดา” ทำให้การจุดระเบิดนั้น “รุนแรง” ขึ้น เครื่องยนต์ก็มีพลังมากขึ้นเช่นกัน ก็เหมือนคุณจะเป็นลม แล้วได้สูด “ออกซิเจน” เพียวนั่นแหละครับ จะรู้สึกเหมือนมีแรงมากขึ้น เทอร์โบก็เช่นกัน
ก่อนอื่นย้อนไปก่อนว่า เทอร์โบ นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1905 ก็ 115 ปี เข้าไปแล้ว โดยวิศวกรชาวสวิส ชื่อ Alfred Buchi ในตอนนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “เครื่องบิน” ที่ใช้เครื่องยนต์ลูกสูบ ก็คือ เมื่อบินสู่น่านฟ้าเหนือระดับน้ำทะเลมากๆ แล้ว จะเกิดปัญหาเรื่อง “ออกซิเจนเบาบาง” ทำให้ “กำลังเครื่องตก” และจะทำให้ “เครื่องบินตก” อีกต่างหาก (ถ้านึกไม่ออก ให้นึกถึงตัวเรานี่แหละ ถ้าขึ้นเขาสูงมากๆ ก็จะเกิดอาการหายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย ก็เรื่องเดียวกัน) เลยต้องผลิต เทอร์โบ ขึ้นมา เพื่อเพิ่มการอัดอากาศให้มากขึ้น กำลังเครื่องก็จะสูง เหตุมาจากตรงนี้แหละครับ
การทำงานของเทอร์โบ
อันนี้ขออธิบายง่ายๆ เลยแล้วกัน สำหรับทุกคนเข้าใจได้...
หน้าตาของเทอร์โบ ก็เหมือน “หอยโข่ง” สองตัวประกบกัน (ดูภาพจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น) ด้านในมี “ใบพัด” สองอัน ยึดติดบนแกนเดียวกัน หมุนไปด้วยกัน ด้านหนึ่ง ต่อมาจาก “ท่อร่วมไอเสีย” ที่นำไอเสียออกจากห้องเผาไหม้ มา “ดัน” ให้ใบเทอร์โบด้านไอเสีย (Turbine) ที่เป็นจุดกำเนิดการขับเคลื่อนหมุน มันก็จะไปหมุนใบเทอร์โบด้านไอดี (Compressor) ทำให้เกิดการ “ปั่นอัดอากาศ” โดยดูดอากาศมาจากภายนอก ผ่านกรองอากาศ (จะอากาศเยอะไปไหน) แล้วก็อัดเข้าท่อไอดี เข้าเครื่องยนต์ไป หลักการง่ายๆ แค่นี้เองครับ
มีเรื่องหนึ่ง...อาจจะได้เคยได้ยินเรื่องเก่าๆ ที่พูดกันว่า “เทอร์โบ เป็นการ “ดูดเอาไอเสียเข้าไปเผาไหม้ใหม่” เพื่อเพิ่มกำลัง” บอกเลย “ไม่จริงแน่ๆ” เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกันเลย มันเป็นเพียงการเอาแรงดันไอเสียไปขับให้เทอร์โบหมุนอย่างที่บอกไปเท่านั้น ซึ่งมันแยกฝั่งไอดีและไอเสียอย่างสิ้นเชิง และที่สำคัญ ไอเสีย มีแต่คาร์บอนไดออกไซด์ มีทั้งเขม่า แทบไม่มีออกซิเจนเหลือเลย มันคือ “ของทิ้ง” ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเพิ่มพลังงานให้กับเครื่องยนต์ได้เลย และ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเอาไอเสียเข้าไปเผาไหม้ใหม่ให้มันสกปรกและบั่นทอนกำลังด้วย
ยุค 90 เทอร์โบรุ่งเรือง
จริงๆ เครื่องเทอร์โบทั่วโลกมีมานานนับร้อยปีแล้ว แต่โดยมากตอนนั้นจะอยู่กับรถแข่ง จะมีรถถนนบ้างประปราย เพราะมันยัง “แพง” มาในยุค 90 ผมขออิงกระแสฝั่ง “ญี่ปุ่น” เป็นหลักนะครับ เพราะใกล้ตัวที่สุด ตอนนั้นรถสปอร์ตญี่ปุ่น นิยมเครื่อง “หัวฉีด เทอร์โบ” กันเป็นหลัก เรียกว่าเป็น “ตำนานเจแปนเทอร์โบ” ที่คงอยู่ถึงปัจจุบัน และสามารถโมดิฟายให้แรงหลุดโลกได้อีก และในบ้านเราเอง ก็จะเห็นเครื่องเทอร์โบใน “เชียงกง” เข้ามา เรียกว่า “รุ่งเรื่องเฟื่องฟู” กันสุดๆ รถยุค 90 วางเครื่องเทอร์โบกันเป็นว่าเล่น แรงสะใจกันไป ตอนนั้นแหละครับ กระแส “บ้าหอย” กันมาทั้งเมือง
สำหรับรถที่ขายในไทย โดยมากมักจะเป็น “สเป็กราคาต่ำ” เราอาจจะเห็นรถหน้าตาแบบเดียวกันในเมืองนอกนั้นมีเทอร์โบให้เล่นกันเป็นแถว แต่บ้านเรา “ธรรมดาเถอะครับ” แต่ก็มองอีกอย่าง คนไทยโดยมากมักไม่ชอบอะไรที่ “แพง” และ “ค่าใช้จ่ายเยอะ” โดยมากก็ขับขี่ในเมือง เครื่องธรรมดาจึงเหมาะสมอยู่แล้ว
ในช่วงปลายยุค 90 รถกระบะ เครื่องยนต์ดีเซล จะเริ่มมี เทอร์โบ ติดมาจากโรงงาน ถ้ารุ่นแรกๆ ของไทย น่าจะเป็น “ISUZU Dragon Eye” แล้วก็มีรถกระบะสัญชาติไทยอย่าง VMC อีกนะ (ที่ตอนนี้กลายเป็น Rare item ไปแล้ว) หลังจากนั้นก็มีกันทุกเจ้าเลย เหตุผลหลัก คือ “ไม่มีไม่ได้” เนื่องจากเครื่องดีเซลยุคเก่าจะมีมลพิษสูง กำลังต่ำ แบบที่เราเคยเห็นกัน ทำให้ “ไม่ผ่านกฏหมายควบคุมมลพิษ” พวก Euro ทั้งหลายนั่นแหละ สิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือ “การใช้เทอร์โบ” เพื่อให้ “การเผาไหม้หมดจด” มลพิษต่ำ รวมไปถึง “เพิ่มกำลังเครื่องยนต์” สังเกตุว่าพวกเครื่อง “คอมมอนเรล” ถึงได้แรงและประหยัดกันแบบคนละเรื่องกับสมัยก่อน ดังนั้น รถดีเซลหลังจากนั้นมา “มีเทอร์โบทุกรุ่น” ซึ่งคนก็ชอบกัน
ตอนนี้ “เบนซิน” ก็แรงนะ
ดีเซลไปแล้ว เบนซินจะยอมได้ไง ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน รถเครื่องเบนซินยุคใหม่ โดยเฉพาะรุ่นแพงๆ ทั้งหลาย จะพึ่งพลังจากหอยซิ่งพวกนี้เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เครื่องเบนซินต้องการ คือ “แรงม้า” ในการทำความเร็ว และที่สำคัญ “แรงบิด” ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเครื่องเบนซิน จะมีจุดอ่อนในด้านแรงบิดที่น้อยกว่าเครื่องดีเซล เลยเอาเทอร์โบมาแก้ ทำให้อัตราเร่งฉูดฉาดแตกต่างคนละโลก
มาถึง รถ ECO Car Phase II กันหน่อย อย่าง NISSAN ALMERA และ HONDA CITY ต่างก็ใช้ “เทอร์โบ” แต่ลดความจุเหลือเพียง “1.0 ลิตร” จาก “1.2 ลิตร” เนื่องจากว่า ตอนนี้เทรนด์การ “ลดขนาดเครื่องยนต์” หรือ Engine Downsizing กำลังมา เมื่อเครื่องเล็กลง ก็ลดได้ทั้งน้ำหนัก ต้นทุน ลดขนาดห้องเครื่องลง เพิ่มขนาดห้องโดยสาร พอเครื่องเบา ช่วงล่างก็ไม่เป็นภาระมาก แล้วก็เอาเทอร์โบอัดเข้าไป ก็ดีสิ ได้แรงม้ามากขึ้น และ แรงบิด ก็มากกว่าเดิมเยอะ ทำให้สมรรถนะสูงขึ้นและประหยัดขึ้นอีก เพราะเราไม่ต้องเหยียบคันเร่งมากเหมือนเครื่องธรรมดา
เครื่องเทอร์โบ “รอรอบไหม”
นี่ก็เป็นคำที่พูดกันมาตั้งแต่สมัยนมนานกาเล ว่า “เทอร์โบต้องรอรอบ” สมัยก่อนอาจจะจริง เพราะเทอร์โบไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงมากนัก น้ำหนักใบพัดก็เยอะ จึงต้องรอให้ไอเสียมาดันให้เพียงพอก่อนมันถึงจะ “ติดบูสต์” เป็นที่มาของคำว่า “รอรอบ” แต่เอาจริงๆ มันอยู่ที่ “เซ็ตค่าขนาดของโข่งหลัง” ถ้าพอดีๆ มันก็ไม่รอ แต่ที่เห็นรอเพราะอยากจะใส่เทอร์โบใหญ่ๆ มันก็ต้องยอมรอรอบแน่นอน เพื่อแลกกับความแรงในรอบสูง
แต่เทอร์โบสมัยใหม่นั้น “ตรงกันข้าม” ไม่มีอาการรอรอบเลย ด้วยเทคโนโลยีที่สูง น้ำหนักเบา เครื่องยนต์เองก็ทันสมัย กำลังอัดสูง การควบคุมการทำงานแม่นยำสูงอีก สังเกตได้ว่า ช่วงแรงบิดจะ “กว้าง” มาก ถ้าดูตามสเป็กพวกรถระดับหรูๆ แรงๆ บางทีตั้งแต่ 1,500 รอบ ขึ้นไป แรงบิดทะลักออกมาเต็มจนไปถึงรอบสูง เป็น Flat torque ถ้าเคยขับจะรู้เลยว่า “ดึงระเบิด” ตั้งแต่รอบเดินเบาเลยทีเดียว กลายเป็นนิสัยเหมือนเครื่องดีเซลเทอร์โบ แต่ได้รอบสูงด้วย สุดยอดจริงๆ ครับ ฝ่ายดีเซลก็ใช่ย่อย มีระบบ “เทอร์โบแปรผัน” มีครีบที่โข่งหลัง ปรับ “รีดไอเสีย” ได้ตามการขับขี่จริง รอบต่ำ ไอเสียน้อย ก็รีดไอเสียให้ไวหน่อย เพื่อให้บูสต์เร็ว รอบสูง ไอเสียเยอะ ก็เปิดครีบให้กว้าง เพื่อให้บูสต์เต็มที่ รถก็จะแรงตั้งแต่รอบต่ำไปยันรอบสูงสุดเช่นกัน “ไม่ธรรมดาเสียแล้ว” สำหรับเทอร์โบยุคใหม่
โอ๊ย จุกจิก เทอร์โบเนี่ย
มันก็จริงครับ เพราะชิ้นส่วนมันเยอะขึ้น มีเทอร์โบ ท่ออากาศต่างๆ นั่นนู่นนี่ อุปกรณ์มันเยอะกว่า ก็ย่อมที่จะมีราคาแพงกว่า การดูแลรักษาเยอะกว่า แต่เดี๋ยวนี้อย่างที่บอก ทุกสิ่งอย่างมันพัฒนาไปแล้ว ถ้าเป็นของเดิมจากโรงงาน เขาผลิตมาเพื่อรองรับการใช้งาน มีการรับประกัน ย่อมไม่เหมือนกับการไปติดเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับฝีมือช่าง เกรดของที่ใช้ มันมี “ความเสี่ยง” มากกว่า การดูแลเครื่องเทอร์โบสมัยนี้ก็ไม่มีอะไรครับ เหมือนเครื่องธรรมดาทุกอย่าง แต่ถ้าเป็นรถที่แรงสักหน่อย ก็จะเพิ่มเรื่อง “คุณภาพของน้ำมันเครื่อง” ใช้เกรดสูงกว่าเครื่องธรรมดาหายใจเอง ถ้าเป็นพวก “ตีนถ่วงหิน” ก็ควรจะยิ่งดูแลรักษามากขึ้น ย่นระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องไวขึ้น เอาน่า รักจะขับเทอร์โบ ก็ต้องดูแลเขาหน่อย
อีกอย่าง เรื่องของ “การ Cool Down” สมัยก่อน จะมีตัว “เทอร์โบไทเมอร์” ตั้งเวลาถอยหลังดับเครื่องหลังจากที่ปิดสวิทช์กุญแจแล้ว เป็นเทรนด์ฮิตในยุค 90 (บางคันไม่มีเทอร์โบ ก็ดันติดกะเขาด้วย) ทำไมต้องมี เนื่องจากถ้าวิ่งมาร้อนๆ แล้วดับเครื่องเลย แกนเทอร์โบมันร้อนมาก จู่ๆ น้ำมันเครื่องหยุดไหลเวียน ทำให้เกิดการ “ไหม้” น้ำมันเครื่องจะกลายเป็นตะกรันดำๆ หรือ Coke ที่บางคนเรียกกัน ทำให้แกนเทอร์โบเสียหายได้ จึงต้อง Cool down มันสักหน่อย จึงต้องติดเจ้า เทอร์โบไทเมอร์ จริงๆ แล้วโดยปกติมนุษย์ เวลาจะจอดคุณต้องเบารถก่อนใช่ไหม กว่าจะเข้าที่จอด มันก็ Cool down ไปอยู่แล้ว คงไม่มีใครอัดตะบึงมาแล้วกระทืบเบรกสุดด้าม แล้วจอดดับเครื่องเลยล่ะมั้งครับ
โหย เครื่องเทอร์โบไม่ทน วิ่งยาวไม่ได้
อันนี้ก็เป็นประเด็นอีก หลายคนกลัวว่าเครื่องเทอร์โบ จะวิ่งยาวๆ ไม่ได้ ร้อนมั่งแหละ จะพังมั่งแหละ ผมเห็นด้วยนะ ถ้าเป็นสมัยก่อนที่ไปติดเทอร์โบกันเองกับเครื่องแบบธรรมดา ในยุค 90 นี่ฮิตมากๆ เพราะ “อยากแรง” ไปไล่พวกวางเครื่องเทอร์โบจากญี่ปุ่น แต่แล้วไม่ได้ปรับจูนน้ำมัน ไฟจุดระเบิด ให้เหมาะสม ประเภท “ด้นสด” ที่เหลือก็ “มโนจูน” เอา และไม่ได้เปลี่ยนอุปกรณ์ไส้ในให้แข็งแรงขึ้น เพื่อรองรับแรงม้าที่เพิ่มขึ้น แบบนั้น “ไม่เหลือแน่” ถ้าแช่ยาวๆ แบบเสียสติเหมือนแข่งกันไปตาย เพราะเครื่องเดิมๆ เขาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเทอร์โบ อันนี้คุณไป Over spec มันเองก็ต้องเสี่ยงกับไส้แตกไป แต่ถ้าเป็นเครื่องเทอร์โบโรงงานยุคใหม่ อันนี้ไม่ต้องกังวลครับ เพราะเขาออกแบบมาให้ทุกอย่างมันรองรับกันได้อย่างสบายอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาอันใดในการใช้งาน จะสั้น จะยาว ก็ว่าไป แต่ถ้าคุณไป “ซน” กับมัน ไปจูนกล่อง ปรับบูสต์เพิ่ม มันก็เข้าอีหรอบที่ว่ามาตะกี้ หากเกิดการ Over spec ไปมาก มันก็ไม่เหลือครับ ถ้าจะเอาแรงม้าขนาดนั้น จะต้องโมดิฟายเปลี่ยนเทอร์โบที่เกรดสูงขึ้น ไส้ในเครื่องยนต์เปลี่ยนของที่แข็งแรงขึ้น เพื่อให้มันทนได้มากขึ้น มันก็เป็นการโมดิฟายอีกขั้นไปแล้ว
เทอร์โบ ไม่หายไปจากโลก ถ้ายังมีเครื่องสันดาปภายใน
บทสรุปส่งท้าย ด้วยความที่เครื่องยนต์รุ่นใหม่ จะดีเซล เบนซิน ต่างก็ “ลดขนาด” หรือ Downsizing ลงทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลหลายประการ เมื่อเครื่องเล็กลง จึงต้องเอาเทอร์โบมาช่วยดันแรงม้า และ แรงบิด จะสังเกตได้ว่า รถยุคใหม่ ความจุเครื่องไม่มาก แต่ดันมีกำลังมากมาย เอาง่ายๆ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบ สมัยนี้ ทำแรงม้าระดับ 300 - 400 PS นี่สบายมาก แบบ “เดิมโรงงาน” ด้วยนะ ขับใช้งานปกติได้ด้วย ถ้าเป็นสมัยก่อนเหรอ เครื่อง 2.0 ลิตร แรงม้าระดับนี้ทำกันหมดไปไม่รู้เท่าไร ความทนทานก็สู้ไม่ได้ ขับใช้งานก็ลำบากชีวิต เพราะฉะนั้น เทอร์โบจึงยังอยู่คู่เครื่องยนต์สันดาปภายใน “ส่วนมาก” เสมอ และในอนาคต จะยิ่งแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถทุกรุ่นไปแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น เราก็รู้จักและศึกษามันไว้บ้างจะเป็นการดีกว่าไม่รู้อะไรเลย และ “ฟังแต่เขาว่า” โดยขาดความรู้และการไตร่ตรองครับ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา
https://www.lifestyle224.com/content/21291/รู้จักกับ-เทอร์โบ-หอยอสรพิษ-แรงจริงหรือไม่-และ-มีวัตถุประสงค์อันใดถึงใส่มา
#เทอร์โบคืออะไร #เทอร์โบทำงานอย่างไร #รู้จักกับเทอร์โบ #ข่าวคราวยานยนต์ #ซื้อขายรถยนต์มือสอง #ชมรถสวยๆ #Super_Car #Hyper_Car #Sport_Car
Click..Here!!! คลิ๊ก 👇👇👇
🚗สนใจซื้อ-ขายรถมือสอง ลงประกาศฟรี!!!
🚗รับซื้อรถบ้าน , รับซื้อรถฝากขายจากเต๊นท์คุณภาพ
🚗สนใจติดต่อลงโฆษณา(ราคาย่อมเยาว์ที่สุด)
👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇
e-mail 📧 bestofcars.info@gmail.com
{{{ พื้นที่โฆษณา }}}